โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน พิมพ์

 

โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ บนความใส่ใจต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม


เพราะกระบี่คือความภาคภูมิใจของคนไทย กับความเป็นเพชรเม็ดงามแห่งอันดามัน การพัฒนาเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดสำหรับโรงไฟฟ้ากระบี่ จึงมิใช่เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความใส่ใจต่อวิถีชีวิต และธรรมชาติอันสวยงาม

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ ที่มุ่งการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ตลอดจนรองรับการขยายตัวของประชากรและนักท่องเที่ยว ควบคู่กับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ความต้องการไฟฟ้าของภาคใต้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 100 เมกะวัตต์ ขณะที่ระบบไฟฟ้ายังไม่มีแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักอย่างเพียงพอ ซึ่งต้องพึ่งพาสายส่งเชื่อมโยงจากภาคกลางและมาเลเซีย ประกอบกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นแนวยาว ก็ทำให้โครงข่ายระบบส่งอาจไม่มั่นคงแข็งแรงเท่าที่ควร การมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่จึงช่วยเสริมความมั่นคงของระบบ และยังช่วยให้เกิดการกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงของประเทศ



เอกสารเพิ่มเติม


รายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือคลองรั้ว <<< Download


ทุกมีคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือคลองรั้ว <<< Download

 


เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านสะอาด

เทคโนโลยีของโรงไฟฟ้ากระบี่ เป็นผลมาจากการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในปัจจุบัน และปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในกระบวนการจัดทำรายงานการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) และ EIA  ของโรงไฟฟ้าและท่าเรือ โดยระบบเผาไหม้และหม้อไอน้ำของโรงไฟฟ้าจะเป็นเทคโนโลยีระดับ Supercritical ขึ้นไป ที่ให้ประสิทธิภาพการผลิตพลังงานถึงร้อยละ 42 – 45  เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีเดิม(Sub-Critical) ที่มีประสิทธิภาพร้อยละ 35 - 38 ทำให้ใช้เชื้อเพลิงน้อยลง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงร้อยละ 21 ใช้เป็นถ่านหินคุณภาพดีประเภทซับบิทูมินัส นำเข้าจากอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ซึ่งได้กำหนดคุณสมบัติให้มีค่าความร้อนสูง มีขี้เถ้าน้อย และค่ากำมะถันต่ำ

เทคโนโลยีในการควบคุมมลภาวะของโรงไฟฟ้า ได้แก่ ระบบกำจัดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน(SCR) กำจัดฝุ่นละออง (ESP) และกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์(FGD) สามารถควบคุมอัตราการปล่อยก๊าซมลภาวะได้ดีกว่ามาตรฐานไม่น้อยกว่า 3 เท่าตัว


เทคโนโลยีเพื่อลดมลสารกลุ่มนี้ ยังจะช่วยดักจับโลหะหนักประเภทต่างๆ กว่าร้อยละ 90 นอกจากนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจ โครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ยังได้นำเทคโนโลยี PAC หรือ Powdered Activated Carbon มาเพิ่มประสิทธิภาพในการดักจับสารปรอทหลังการเผาไหม้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่า การตรวจวัดสารตกค้างต่างๆ ทั้งในธรรมชาติ พืช และสัตว์ เป็นมาตรการที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายและข้อตกลงในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานโรงไฟฟ้า

การขนส่งถ่านหินมายังโรงไฟฟ้า เป็นอีกขั้นตอนที่สำคัญ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อชุมชน และสภาพแวดล้อมของการเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรือบรรทุกถ่านหินจึงเป็นระบบปิดเพื่อป้องกันการร่วงหล่นและฟุ้งกระจาย ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบอาชีพทั้งการประมงและท่องเที่ยว ต้องการให้โครงการฯ ใช้เรือขนส่งถ่านหินขนาดเล็ก จึงจะใช้เรือขนาด 10,000  ตัน ขนส่งถ่านหินเที่ยวละ 8,000 ตัน มายังท่าเทียบเรือบริเวณบ้านคลองรั้ว ตามความต้องการใช้ถ่านหินของโรงไฟฟ้าวันละ 7,260 ตัน เฉลี่ยวันละ 1 เที่ยว หรือไม่เกิน 2 เที่ยวในบางวัน โดยความเร็วในการเดินเรือใกล้ชายฝั่งจะไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อลดคลื่นและการกวนตะกอนท้องน้ำ

การลำเลียงถ่านหินจากเรือมาจากโรงเก็บถ่านหินบริเวณท่าเทียบเทียบก็จะเป็นระบบปิดเช่นกัน จากนั้นก็จะลำเลียงถ่านหินไปตามอุโมงค์ หรือสายพานลำเลียงระบบปิดไปยังโรงเก็บถ่านหินระบบปิดบริเวณโรงไฟฟ้า ซึ่งอยู่ไกลจากชายฝั่งลึกเข้าไปในแผ่นดินถึง 10 กิโลเมตร

ประเด็นผลกระทบของเรือขนส่งถ่านหินต่อแหล่งดำน้ำ หรือเรือท่องเทียวนั้น จากการศึกษาแหล่งดำน้ำในบริเวณเส้นทางเดินเรือ พบว่า มีจุดดำน้ำดูปะการังจำนวน 13 แห่ง เกือบทั้งหมดอยู่ห่างจากเส้นทางเดินเรือเกินกว่า 10 กิโลเมตรขึ้นไป มีเพียง 2 จุด ที่มีระยะห่าง 3.9 และ 6 กิโลเมตร ซึ่งจากระยะห่างของเส้นทางเดินเรือ จึงไม่สร้างผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือภูมิทัศน์ของกิจกรรมท่องเที่ยว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรการความเร็วเรือที่ไม่เกิน 20 ก.ม. ต่อชั่วโมง และการเดินเรือเฉลี่ยวันละ 1 เที่ยว

 

 

 

โครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ เป็นอีกหนึ่งของความตั้งใจจริงในการนำการบริหารจัดการ และเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาแก้ไขและป้องกันปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม  ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่ต้น หรือตั้งแต่การออกแบบโครงการ เพื่อเป็นหลักประกันและสร้างความมั่นใจให้แก่ชุมชนว่า การพัฒนาของจังหวัดกระบี่ จะสามารถเดินเคียงคู่ไปกับการอนุรักษ์ได้อย่างกลมกลืน มีความสวยงาม พร้อมด้วยสาธารณูปโภคพื้นฐานครบครัน ไม่ต่างกับเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ของโลก



 
[Home] [ Back ] [ Top ]